af

เรือประมงพื้นบ้าน กว่า 400 ลำ สุดทนดีเดย์ยื่นหนังสือในทะเลให้รัฐช่วยเยียวยา

 เรือประมงพื้นบ้าน กว่า 400 ลำ สุดทนดีเดย์ยื่นหนังสือในทะเลให้รัฐช่วยเยียวยา

  พลังกลุ่มประมงพื้นบ้านชายหาดเมืองระยอง 9 กลุ่ม 450 ลำ เดือดร้อนอย่างหนัก เขตทะเลชายฝั่งมาบตาพุด ถูกถมกว่า 1.000 ไร่ ยื่นหนังสือทางบก 2 ครั้ง ไร้วี่แววไม่มีเสียงตอบรับการเยี่ยวยาประมงพื้นบ้าน ระดมพลเรือประมงเล็กเมืองระยอง รวมพลในทะเลอ่าวท่าเรือมาบตาพุดยื่นหนังสือให้ การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทบทวน หาทางแก้ไขโดยใช้โมเดลท่าเรือแหลมฉบัง ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านยืนยันไม่ใช่การขัดขวางหรือประท้วงการถมทะเล

 ผู้สื่อข่าวได้ทราบมาว่า ในวันที่ 29 เมษายน 2564 เรือประมงพื้นบ้านจังหวัดระยอง กว่า 400 ลำ พร้อมชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถมทะเลท่าเรือมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง จะเดินทางไปยังบริเวณท่าเรือมาบตาพุด เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาล เมตตา สงสารชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบโตยตรงกับการถมทะเล โดยให้พิจารณาในเรื่องการเยียวยาให้กับชาวประมง เหมือนกับที่ทางท่าเรือแหลมฉบังได้มีการเยียวยาให้ก้บชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการถมทะเล เป็นจำนวนเงิน  160 ล้านบาท ภายใน 6 ปี  เพราะขณะนี้โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดได้เริ่มดำเนินการแล้ว แต่ประชาชน โดยเฉพาะชาวประมงไม่มีส่วนร่วม อีกทั้งไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด

 เรื่องนี้ได้ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 นายศรีนวน อักษรศรี ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน อ.เมือง จ.ระยอง เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวการรวมตัวของเรือประมงพื้นบ้านทั้งหมดในเขตเมืองระยอง เพื่อจะเดินทางไปทางทะเลยื่นหนังสือให้กับ การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในวันที่ 29 เมษายน 2564 เป็นเรื่องจริง ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านจำนวน 9 กลุ่ม มี กลุ่มอนุรักษ์บ้านพลา กลุ่มหนองแฟบสามัคคี กลุ่มบ้านตากวน กลุ่มสุชาดาสะพานเมือง กลุ่มบ้านตรอกยายชา กลุ่มปากน้ำบ้านเร่า กลุ่มหัวบ้าน กลุ่มแหลมรุ่งเรือง และกลุ่มก้นปึก ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 450 ลำ ได้ตอบรับแล้วว่าจะมาร่วมขบวนแห่เรือเพื่อยื่นหนังสือในทะเลให้กับการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวน พิจารณาเยียวยาให้กับชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในระยะยาว เพราะมีการขยายท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3

 และยังได้กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีกระแสโจมตีว่ากลุ่มประมงพื้นบ้านจะสร้างความเดือดร้อน อีกทั้งจะไปปิดอ่าว ขัดขวางการพัฒนาท่าเรือ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว พวกเรือประมงจะไปยื่นหนังสือขอความเมตตากับ ภาครัฐให้พิจารณา ทบทวนในเรื่องของการเยียวยาให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพประมงที่ได้รับผลกระทบในทางตรงและทางอ้อมเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้าน ขัดขวางการถมทะเล เพราะที่ผ่านมากลุ่มประมงได้พยายามทุกวิถีทางแล้ว เคยทำหนังสือส่งไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ถึง 1 ครั้ง แต่เรื่องก็เงียบหายไป ไม่มี การชี้แจง หรือให้คำตอบแต่อย่างใด และสาเหตุที่ต้องไปยื่นหนังสือทางเรือนั้นเพราะคิดว่าเป็นวิธีสุดท้ายที่เปรียบเสมือนหมาจนตรอกแล้ว จึงเปลี่ยนวิธียื่นหนังสือในทะเลบ้างอาจได้รับการพิจารณาช่วยเหลือจากภาครัฐ ยอมรับว่าหมดหนทางแล้ว

 ท้ายสุด นายศรีนวน ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านในนามของตัวแทนชาวประมงทั้งหมด ขอวิงวอนว่าให้รัฐบาล และการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้หันหลังกลับมามองชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนในระยะยาว วิถีชีวิตชาวประมงที่สืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้จะให้พวกเราเปลี่ยนวิถีไปทำอาชีพอื่นคงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะองค์ประกอบของดำเนินชีวิตได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะองค์ความรู้ไม่สามารถจะเข้าไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้ ที่น่าแปลกก็คือ ทำไมการท่าเรือแหลมฉบัง ไม่มีปัญหาเหล่านี้ ชาวประมงได้มีส่วนร่วม ได้รับการเยียวยาอย่างทั่งถึง จึงขอให้รัฐบาลพิจารณานำโมเดลของท่าเรือแหลมฉบังมาใช้กับชาวประมงเมืองระยอง ด้วย   

พัชรพล  ปานรักษ์  จ.ระยอง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม