นอภ.เพ็ญจับมือท้องถิ่นควักกระเป๋าเปิด รีสอร์ท-บ้านพัก กักตัวแรงงานกลุ่มเสี่ยงทะลักกลับบ้าน

นอภ.เพ็ญจับมือท้องถิ่นควักกระเป๋าเปิด รีสอร์ท-บ้านพัก กักตัวแรงงานกลุ่มเสี่ยงทะลักกลับบ้าน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564  เวลา11.0 น.  จังหวัดอุดรธานียังคงเข้มงวดคัดกรอง ผู้คนที่เดินทางมาจาก 22 จังหวัดเสี่ยงสูง ทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสารประจำทาง รถยนต์ และการค้นหาของ อสม. เพื่อนำมาตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อเป็นผู้ใช้แรงงาน 2 วัน มากถึง 35 ราย นำส่งโรงพยาบาล ก่อนไประบาดที่บ้าน ส่วนผู้ไม่พบเชื้อต้องกักตัว 14 วัน ในสถานที่รัฐจัดให้ (Local Quarantine) ในระดับจังหวัดที่หอพักชายมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี และในระดับอำเภออีก 19 แห่ง โดยที่ อ.เพ็ญ ได้จัดสถานที่กักตัวระดับตำบล โดยใช้สถานที่ของ อบต. , รีสอร์ท , บ้านเช่า และหอพัก ทำให้ผู้ถูกกักตัวจะอยู่ใกล้กับญาติตัวเอง

นายณฐพล วิถี นายอำเภอเพ็ญ พร้อมคณะกิ่งกาชาด อ.เพ็ญ เดินทางตรวจเยี่ยมสถานที่กักตัว ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จอมศรี นายนัฐพล บัวจันทร์ นายก อบต.จอมศรี นำเยี่ยมให้กำลังใจผู้กักตัว 9 คน ทั้งหมดเป็นแรงงานแคมป์ถูกปิด พร้อมชี้แจงได้ใช้อาคารที่ทำการเดิม มาปรับปรุงแบ่งเป็นห้องแยก ห้องรวม และบ้านพัก โดยห้องนายกฯเดิม มีครอบครัวพ่อแม่ลูก 5 คน , ห้องรวม 2 คน และบ้านพักซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 สามีภรรยา ภรรยาเคยติดเชื้อกักตัวยังไม่ครบ จึงแยกออกมาไม่ปะปนกัน ทุกคนผ่านการตรวจเชื้อรอบแรก ทุกคนจะได้รับอาหารและนำดื่ม 3 มื้อ

ด้านนายอำนวย อินทรธิราช นายก อบต.นาพู่ นำเข้าเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัว พ่อแม่ลูกชาวอุดรธานี ไปเปิดขายปลาเผา ย่านอุดมสุข กรุงเทพฯ กลับมาเพราะลูกจะสร้างบ้านใหม่ พร้อมถูกกักตัวที่หอพักแห่งหนึ่งจำนวน 10 ห้อง บ้านหนองนกเขียน ริมถนนมิตรภาพ อุดร-หนองหาย อบต.ได้จัดอาหารและน้ำดื่มให้ 3 มื้อ โดยมีลูกชายนำอาหารมาให้เพิ่มเติม ขณะที่มีเพื่อนบ้านที่หวาดกลัว เข้ามาร้องขอให้ย้ายไปที่อื่น นายอำเภอฯได้ชี้แจง ผู้มากักตัวไม่ใช่เป็นผู้ป่วย รับการตรวจหาเชื้อมาแล้ว แต่เพื่อนบ้านยังยืนยันว่ากลัว เช่นเดียวกันชาวบ้านในหมู่บ้าน แสดงความไม่พอใจเจ้าของหอพัก

ส่วนพื้นที่ อบต.สุมเส้า นางทวินตรา ทรงคาศรี นายก อบต.สุมเส้า นำตรวจพื้นที่กักตัว “อุ้ยเสี่ยวป้อรีสอร์ท”  อบต.เช่าไว้ทั้งหมด 5 ห้อง เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจผู้ถูกกักตัว เป็นแรงงานจากสมุทรปราการ 2 คน และนักศึกษาฝึกงาน จ.ปทุมธานี 1 คน และวันนี้จะส่งมากักตัวอีก 2 คน โดยมีสถานที่กักตัวสำรองที่ อบต.สุมเส้า และยังจะหาบ้านว่างเพื่อเช่าเพิ่มเติม โดยวานนี้ชาวบ้านยังไม่เข้าใจ ออกมาแสดงความไม่พอใจ ได้ไปทำความเข้าใจแล้ว

โดยในพื้นที่เทศบาลตำบลเพ็ญ นพ.วิชัย ชัยจิตวนิชกุล นายก ทต.เพ็ญ นำคณะดูสถานที่กักตัว “เดือนเพ็ญรีสอร์ท” ของ “ครูจ๋า” เป็นรีสอร์ทหรูในเขตเทศบาล บังกะโล 3 หลัง (มีครัวเล็ก) และห้องพัก 5 ห้อง พร้อมเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ทีวี และสัญญาอินเตอร์เน็ท (งดสระว่ายน้ำ) พร้อมเสนอเมนูอาหารเช้า 7 วันไม่ซ้ำ และเมนูอาหารกลางวัน-เย็น 22 รายการ เจ้าของรีสอร์ทขอร่วมทำบุญ และมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพชาว อ.เพ็ญ  โดยลดลดราคาให้เต็มที่ตามกำลังของท้องถิ่น จะเริ่มรับผู้กักตัว 3 มิ.ย.นี้ 

นพ.วิชัย ชัยจิตวนิชกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเพ็ญ เปิดเผยว่า การกักตัวเป็นเรื่องที่ต้องทำ หากเราปล่อยให้ผู้อาจจะติดเชื้อ เข้าชุมชนจะเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น อำเภอเพ็ญทุกองค์กรปกครองท้องถิ่น หากเราจัดสถานที่กักตัวในที่เดียวกัน อาจจะสะดวกในการตรวจติดตามเชื้อ การจัดการอาหาร และขยะติดเชื้อ แต่ข้อเสียคือห่างไกลจากบ้าน และญาติพี่น้อง ขณะที่เราเองไม่มีสถานที่ใหญ่ขนาดนั้น โดยแต่ละตำบลก็มีคนไปทำงานต่างถิ่นมาก เห็นด้วยกับการแยกเป็นตำบล หากใครไม่มีความพร้อม ก็สามารถใช้พื้นที่ใกล้เคียงได้

สำหรับพื้นที่กักตัวของ เทศบาลตำบลเพ็ญ ต้องขอบคุณเจ้าของกิจการ นอกจากจะให้เป็นสถานที่กักตัว ยังยินดีได้ร่วมทำบุญในครั้งนี้ ด้วยการลดราคาลงมา 2 รอบ จนทำให้ระเบียบทางราชการทำได้ ถือว่าเป็นการช่วยชาติบ้านเมือง ขณะที่สถานที่พักที่นี่น่าพัก ครบถ้วนเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก อาหารการกินที่ก็พร้อม ทางเทศบาลตำบลเพ็ญ ก็จะมาช่วยเรื่องทำความสะอาด เก็บขยะติดเชื้อ และสาธารณสุขมาตรวจติดตามด้านสุขภาพ ผู้เข้ามารับการกักตัวน่าจะพึงพอใจ ”

นายณฐพล วิถี นายอำเภอเพ็ญ เปิดเผยว่า ถ้าเราใช้สถานที่ของอำเภอคือ “หอประชุม” หากวันหนึ่งมีคนเดินทางมามากขึ้น สถานที่ก็จะไม่เพียงพอ จนแออัดเกิดการแพร่เชื้อได้ เกรงจะเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะสถานที่อาบน้ำ-ห้องน้ำ จึงเลือกใช้สถานที่ในตำบล โดยให้นายก อบต. และ รพ.สต.ช่วยกันหาสถานที่เหมาะสม ซึ่งที่ อ.เพ็ญ ไม่มีโรงแรมขนาดใหญ่ จึงได้รีสอร์ที่ ต.นาพู่ , ต.เพ็ญ , ต.เชียงหวาง และต.สุมเส้า บางที่เราใช้เป็นบ้านพัก บ้านเช่า หอพัก หรือใช้อาคารเก่านำมาปรับปรุง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยไม่แพร่เชื้อ ซึ่งมีขั้นตอนในการพิจารณาอยู่  

หลังเริ่มมีการกักตัวจริง ก็พบปัญหาเข้ามาบ้าง และได้ไปพบด้วยตัวเอง กับคำพูดของพี่น้องที่ยังไม่เข้าใจ ว่าทำไมไม่ไปใช้ที่บ้านนายอำเภอ ก็เข้าใจความรู้สึก เพราะอาจจะใกล้ชุมชนไปบ้าง เราก็พยายามทำความเข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจเราก็เปลี่ยนสถานที่ได้ โดยยอดผู้กักตัวที่ อ.เพ็ญ มี 30 ราย จากที่เรามีอยู่ 249 ห้อง และเพิ่มขึ้นอีกในวันนี้ เชื่อมั่นว่าหากเพิ่มมากอีกก็รับได้ เพราะเราใช้วิถีธรรมชาติ ที่มีอยู่ในชุมชน ทุกคนช่วยกันดูแล หาสถานที่เหาะสมไปเรื่อย ๆ ส่วนผู้ติดเชื้อพักรักษาตัวที่ รพ.เพ็ญ 17 ราย โดย 8 ราย เป็นกลุ่มแรงงานที่เข้ามาใหม่ เราค้นหาพบตัวก่อนไปแพร่เชื้อ ดังกล่าว

ภาพ/ข่าว นายกฤษดา  จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม