สุรินทร์ : ชาวชุมชนบ้านปะเดียก ร่วมทำบุญ ‘ตักบาตรเทโว’ วันออกพรรษา

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 14 ต.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศพิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในวันออกพรรษา ประจำปี 2565 เขตชายเเดนไทย-กัมพูชา ณ วัดป่าเชตวันสุทธิวนาราม ต.บัวเชด จ.สุรินทร์ ได้จัดทำบุญตักบาตรเทโว พระสงฆ์ สามเณร รวม18รูป โดยมีพุทธศาสนิกชนคนในชุมชนร่วมพิธี เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นพื้นที่3ชนเผ่าชาติพันธ์ เขมร-กูย-ลาว เขตชายเเดนไทย-กัมพูชา

ที่วัดป่าเชตวันสุทธิวนาราม(วัดป่าปะเดียก)คนในชุมชนเดินทางมาทำบุญตักบาตร เทโวโรหณะกันอย่างหนาแน่น ต่างพาครอบครัว ได้นำข้าวสารอาหารแห้งไปร่วมตักบาตรเทโวกันแต่เช้า

ซึ่งมี นายคำเส็ง แป้นจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านปะเดียก เป็นประธานในพิธีตักบาตรเนื่องในวันออกพรรษา โดยมีพระอาจารย์วัชพล อติวิโร เจ้าอาวาสวัดเชตวันอาสนาราม เป็นประธานสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาร่วมพิธี

ประเพณีตักบาตรเทโว ถือว่าเป็นการทำบุญตักบาตรในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกใน วันมหาปวารณา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันออกพรรษา คำว่า เทโว เรียกมาจากคำว่า เทโวโรหณะ (เทว+โอโรหณ) ซึ่งแปลว่า การลงจากเทวโลกเพื่อเป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์เสด็จ หลังจากที่พระองค์แสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดา ทรงจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา 3 เดือน และกลับจากเทวโลก

พอออกพรรษา พระพุทธเจ้าก็จะเสด็จลงจากเทวโลกกลับมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงที่เมืองสังกัสส์ ใกล้เมืองพาราณสี ชาวบ้านชาวเมืองทราบข่าวก็พากันไปทำบุญตักบาตรพระพุทธองค์ที่นั่น และเป็นการรับเสด็จพระพุทธองค์ด้วยการตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้าจึงได้ปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาเป็นประเพณีจนถึงเมืองไทย จึงเรียกประเพณีนี้ว่า การตักบาตรเทโวโรหณะ นิยมสั้นๆ ว่า การตักบาตรเทโว มาจนถึงปัจจุบัน

พิธีปฏิบัติในการตักบาตรเทโว จะมีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนล้อเลื่อนที่บุษบก หรือขบวนรถทรง มีบาตรวางตั้งอยู่ด้านหน้า ขบวนพระสงฆ์ก็จะเดินตามเรียงเป็นแถวงดงาม พุทธศาสนิกชนก็จะนั่งเรียงเป็นแถว และนำ ข้าวต้มลูกโยน มาใส่บาตร ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ในการตักบาตรเทโว ในบางวัดอาจจะมีการจัดสถานที่เป็นแบบจำลองเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจริงๆ อีกด้วย การตักบาตรเทโวชาวบ้านได้จัดเตรียมอาหารในตอนเช้า อาหารที่เตรียมเพื่อตักบาตรเป็นพิเศษในวันนี้ คือ ข้าวต้มมัด และ ข้าวต้มลูกโยน วัดบางวัดอาจจะจำลองสถานการณ์วันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ คือ ประชาชนจะนั่งหรือยืนสองฝั่งทางลงจากอุโบสถ หรือศาลา ให้พระสงฆ์เดินเข้าแถวเรียงลำดับรับบาตรตรงกลาง โดยมีมัคทายก เดินอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้าแถวพระสงฆ์หลังจากตักบาตรแล้ว มีการอาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีลฟังธรรมและทำสมาธิตามโอกาส เพื่อทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสแผ่เมตตา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติ ผู้ล่วงลับ และสรรพสัตว์.

ภาพ/ข่าว พูนสิน ยั่งยืน ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม