กรมชลประทาน พัฒนาห้วยหลวงกลาง-บนเริ่ม ปี 67 ใช้งบ 5 พันล้านบาท

อุดรธานี-กรมชลประทาน พัฒนาห้วยหลวงกลาง-บนเริ่ม ปี 67 ใช้งบ 5 พันล้านบาท

วันที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะนำสื่อมวลชน ติดตามความโครงการศึกษาความเหมาะสม การพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนกลาง-ตอนบน จ.อุดรธานี โดยมีนายเฉลิมชัย ม่วงแพร่ไหม ผอ.โครงการชลประทานอุดรธานี นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่ปรึกษาโครงการ ชี้แจงผลความคืบหน้าโครงการ ที่สนง.ชลประทาน จ.อุดรธานี และเดินทางลงดูพื้นที่ประตูระบายน้ำห้วยหลวง ต.สามพร้าว อ.เมือง อุดรธานี

กรมชลประทานได้ศึกษาจัดทำแผน การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ตั้วแต่ปากน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ขึ้นมาถึงประตูระบายน้ำสามพร้าว อ.เมือง อุดรธานี ในการประชุม กรอ. ในห้วงการประชุม ครม.สัญจร เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เมื่อปี 2561 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการมีข้อสั่งการให้ศึกษาความเหมาะสม และการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงต่อบกลาง และตอนบน ตั้งแต่ประตูระบายน้ำสามพร้าว ขึ้นไปจนถึงบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ กรมชลประทานได้ว่าจ้างที่ปรึกษา ระหว่าง 11 มิ.ย.63-2 ธ.ค.64

โดยที่ปรึกษาได้ส่งรายงานแผนหลักฯเมื่อ มี.ค.64 อย่าระหว่างศึกษาความเหมาะสม 5 โครงการ คือ อาคารบังคับน้ำ บ.โนนสว่าง ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ พื้นที่ชลประทาน 13,436 ไร่ , อ่างฯ บ.ขอนยูงน้อย ต.ขอนยูง อ.กุดจับ ความจุ 4.38 ล้าน ลบม. พื้นที่ชลประทาน 6,787 ไร่ , อาคารบังคับน้ำ บ.ห้วยเชียง 2 บ.ดงธาตุ อ.กุดจับ พื้นที่ชลประทาน 3,715 ไร่ , อ่างฯห้วยยางล่าง บ.หนองแซงสร้อย อ.กุดจับ ความจุ 5.45 ล้าน ลบม.พื้นที่ชลประทาน 5,321 ไร่ และโครงการบริหารจัดการน้ำ ประตูระบายน้ำสามพร้าว

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การศึกษาดำเนินมาได้ปีเศษ ฝากสื่อมวลชนสื่อไปถึงประชาชน ว่าเดิมพื้นที่นี้มีอ่างฯห้วยหลวงความจุ 135 ล้าน ลบม.ที่ยังใช้งานได้ดี และมีอ่างฯประกอบอื่น รวมทั้งแก้มลิงต่าง ๆ รวมอีกราว 10 ล้าน ลบม. ลำน้ำห้วยหลวงถูกใช้งานมาตลอด ทั้งเพื่ออุปโภค-บริโภค และเพื่อการเกษตร บางปีก็มีอุทกภัยเกิดขึ้น ประเด็นคือลำน้ำตื้นเขิง มีวัชพืชและตะกอนมากมาย ทำให้ประสิทธิภาพจัดการน้ำลดลง

“ ในแนวทางการศึกษาประการแรก จะเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำ มีเป้าหมายเพิ่มอีก 50 ล้าน ลบม. ปัญหาอุทกภัยในเขตเมือง มีการก่อสร้างคลองฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำสามพร้าว ไหลผ่านไปในปริมาณ 400 ลบม.ต่อวินาที ที่นี่มีทั้งอาคารบังคับน้ำ (ฝาย) และประตูระบายน้ำ (ปตร.) ระบายน้ำไปได้รวม 200 ลบม.ต่อวินาที ตอนแรกคิดจะขยายประตู แต่ที่ปรึกษาขอให้คงไว้ ยังใช้งานที่นี่ได้อยู่ ด้วยการจัดการจากต้นน้ำ ในอ่างฯที่เรามีอยู่ การสร้างอ่างฯเพิ่ม และการขุดลอก รวมไปถึงการบริหารจัดการ ”

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า คาดว่าจะต้องจัดทำรายละเอียด การออกแบบเตรียมการให้พร้อม เราจะต้องใช้เวลาอีกมากกว่า 1-2 ปี จึงจะจัดเข้าแผนงบประมาณได้ เป็นการสร้างอ่างฯ 2 แห่ง , อาคารบังคับน้ำ 2 แห่ง , การสูบกลับ , แก้มลิง , ขุดลอก และบำบัดน้ำเสีย สำหรับห้วยหลวงวงเงินน่าจะไม่เกิน 5,000 ล้านบาท การก่อสร้างน่าจะอยู่ในราว ปี 2566-69 ความจริงน่าจะต้องใช้เวลา 5 ปี แต่แผนเราจะเขียนให้เร่งรัดขึ้นเป็น 3 ปี

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ตอบข้อซักถามด้วยว่า ช่วงนี้มีปัญหาการระบาดของโควิด-19 มีปัญหาอยู่บ้างเรื่องการมีส่วนร่วม กรมชลประทานได้พิจารณาเรื่องนี้ เห็นว่ามีแผนงานตาม ทีโออาร์.กำหนดเวลาแล้ว เราจะไปหยุดหรือชะลอไม่ได้ และจะกระทบไปถึงการใช้งบ จะให้ทันปีใน 2567 ก็คงไม่ได้ เราได้นำเอาเรื่องมาตรการมาใช้ จัดเวลารับฟังความเห็นกระจ่าย ย่อยห้องประชุมออกไป หรือทำหลายครั้ง รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี เมื่อ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการ ทีทงานกรมชลประทานก็เร่งออกมา มาถึงก็ตรวจหาเชื้อกันก่อนลงพื้นที่.

ภาพ-ข่าว กฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม