ชาวบ้านชายแดนศรีสะเกษ แห่อัญเชิญเงินขวัญถุงพระราชทาน ใช้ประโยชน์ป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด

ศรีสะเกษ-ชาวบ้านโคกเจริญชายแดนไทย-กัมพูชาแห่อัญเชิญเงินขวัญถุงพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดินอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของหมู่บ้าน

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านโคกเจริญ หมู่ที่ 6 ต.ละลาย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พ.อ.จิรวิทย์ เผือดผุด ฝ่ายเสนาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 2 ส่วนแยก 2 ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีแห่อัญเชิญเงินขวัญถุงพระราชทาน ซึ่งนายประหยัด สุขจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 และประธานกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านโคกเจริญ ได้ร่วมกับชาวบ้านโคกเจริญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ชุดวิทยากรกองทุนแม่ของแผ่นดิน ที่ 2 ส่วนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ชุดพัฒนาสัมพันธ์มวลชนที่ 2214 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนแยก 2 สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอกันทรลักษ์ รพ.สต.โคกเจริญ ร.ร.บ้านโคกเจริญ อบต.ละลาย สภ.โดนเอาว์ กำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลละลาย และชาวบ้าน 5 โคก ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น

โดยมีการจัดขบวนแห่อัญเชิญเงินขวัญถุงพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดินอย่างยิ่งใหญ่ มีข้าราชการแต่งเครื่องแบบปกติขาวอัญเชิญพระฉายาลักษณ์ พานพุ่มเงินพุ่มทอง เงินขวัญถุงพระราชทาน กลุ่มแม่บ้านพากันสวมชุดสีฟ้า คณะ น.ร. นักศึกษาวิชาทหารและขบวนรำอย่างสวยงามตระการตา เริ่มขบวนแห่จากปากทางเข้าบ้านโคกเจริญไปยัง ร.ร.บ้านโคกเจริญ เพื่ออัญเชิญเงินขวัญถุงพระราชทานเข้าในบริเวณพิธีภายในห้องประชุมของ ร.ร.บ้านโคกเจริญ โดยได้รับความเมตตาจาก พระอธิการไสว โชติวรรณโณ เจ้าคณะตำบลละลาย และเจ้าอาวาสวัดสามโคกพัฒนาราม ต.ละลาย อ.กันทรลักษ์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ประกอบพิธีทางศาสนา จากนั้น ได้มีการเชิญประธานในพิธีและสมาชิกขึ้นรับแลกเงินขวัญถุงพระราชทานต่อหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้เงินต่อยอดเงินขวัญถุงพระราชทาน จำนวนทั้งสิ้น 69,965 บาท เพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของหมู่บ้านโคกเจริญต่อไป

นายประหยัด สุขจิตร ประธานกองทุนแม่ของแผ่นดิน บ้านโคกเจริญ กล่าวว่า บ้านโคกเจริญ เดิมเป็นบ้านโคกแกแล หมู่ 3 ตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยตั้งชื่อตามลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่เนินสูงและความอุดมสมบูรณ์ของดินบ้านโคกเจริญ เมื่อปี พ.ศ. 2513 ได้ประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน ( ปชด.)เมื่อปี พ.ศ. 2518 ได้รับการจัดตั้งเป็น หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ( อพป.) เมื่อปี พ.ศ.2562 ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดหมู่บ้าน ป้องกันตนเองชายแดน ( ปชด. )ระดับภาค เมื่อปี พ.ศ.2536 ได้รับประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้านต้นกล้าของแผ่นดินปี เมื่อปีพ.ศ.2562 ประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินปี พ.ศ. 2563 อาชีพหลักของราษฎร ได้แก่ เกษตรกรรม ปัจจุบันมีครัวเรือนทั้งสิ้น 200 ครัวเรือนสถานการณ์ยาเสพติดที่ผ่านมาของหมู่บ้านซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้แนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติด ตลอดจนกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีการใช้สารเสพติดตามกระแสสังคมเมื่อจัดตั้งเป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินและได้รับพระราชทานเงินขวัญถุง เมื่อ วันที่ 23 เดือน ธ.ค. 2563 ราษฎรในหมู่บ้านได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้ร่วมกันขับเคลื่อน การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน โดยใช้หลักชุมชนดูแลชุมชน ใช้มาตรการตามกฎชุมชนเข้มแข็งเกิดมาตรการทางสังคมด้วยการให้อภัยซึ่งกันและกันนอกจากนั้นยังดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กันไป โดยได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในการขับเคลื่อนกองทุนแม่ของแผ่นดิน จากส่วนราชการต่าง ๆ จึงทำให้เป็นหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง มีระบบเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดของหมู่บ้าน/ชุมชน อย่างยั่งยืน

พ.อ.จิรวิทย์ เผือดผุด ฝ่ายเสนาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 2 ส่วนแยก 2 กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด ต่อปวงชนชาวไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงห่วงใยต่อปัญหายาเสพติด ที่แพร่ระบาดในสังคมไทย ซึ่งมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พระองค์จึงได้พระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้นำไปใช้ประโยชน์ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จึงเป็นจุดกำเนิดของ โครงการ “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา บ้านโคกเจริญเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับพระราชทานเงินขวัญถุงจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน และกิจกรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจนประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้เป็นหมู่บ้าน ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ขอให้สมาชิกกองทุนแม่ของแผ่นดินทุกคน ที่ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนตามกระบวนการ ให้ครบทั้ง 10 ขั้นตอน เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยสันติวิธี โดยใช้หลักชุมชนดูแลชุมชน ใช้มาตรการตามกฎชุมชนเข้มแข็ง และมาตรการทางสังคม ด้วยการให้อภัยซึ่งกันและกันเป็นหมู่บ้านชุมชนที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนตลอดไป.

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม