จ.นครพนม ยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง 30 ราย เร่งเพิ่มเตียงสำรอง หากเกิดการระบาด

นครพนม-ยอดผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 30 ราย สั่งเพิ่มเตียง CI สำรองหากเกิดการระบาด พร้อมแนะประชาชนฉีดวัคซีน รพ.ใกล้บ้าน

วันที่ 5 มกราคม 2565 ที่ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายวรรณพล ต่อพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม และนายแพทย์กิตติเชษฐ์ ธีรกุลพงศ์เวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม (ด้านเวชกรรมป้องกัน) ร่วมกันแถลงสถานการณ์ในการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวโควิดในพื้นที่ ซึ่งวันนี้มีผู้ป่วยยืนยัน 30 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร 2 ราย ชลบุรี 2 ราย สกลนคร 1 อุบลราชธานี 1 ราย และเป็นคนในพื้นที่จังหวัดนครพนม จำนวน 24 ราย ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่าจะพบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยปัจจุบันจังหวัดนครพนมยังสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อยู่ และมี 2 คัตเตอร์ที่กำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ ที่ตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมืองนครพนม ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์และแพร่เชื้อต่อในพื้นที่ โดยได้มีการตรวจกลุ่มเสี่ยงไปแล้ว 2 ครั้ง และจะสิ้นสุดการติดตามในวันที่ 8 มกราคม 2565 ส่วนอีกคัตเตอร์เกิดขึ้นใหม่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ คือคัตเตอร์งานบวชที่ตำบลคำเตย อำเภอเมืองนครพนม เนื่องจากมีคณะหมอลำที่มาจากอุบลราชธานีและจังหวัดอุดรธานีมาแสดง เมื่อกลับไปมีการโทรมาแจ้งเจ้าภาพว่าคณะมีคนติดเชื้อ เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงทำให้พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 4 ราย และได้มีการตรวจค้นหาเชิงรุกเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏว่าปัจจุบันมีการพบผู้ติดเชื้อแล้ว 20 ราย เหลืออีก 7 ราย ที่อยู่ระหว่างรอผลการตรวจในรอบแรก และทีมระบาดวิทยาคาดว่าน่าจะพบประมาณ 40 รายในคัตเตอร์นี้

ทั้งนี้ในส่วนของการคาดดการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด เจ้าหน้าที่คาดว่าสิ้นเดือนมกราคมจะเป็นสายพันธุ์โอไมครอนเป็นหลัก ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าแต่สามารถแพร่ระบาดได้มากกว่า ข้อดีคือเชื้อไม่ค่อยลงปอด ซึ่งการฉีดวัคซีนถือเป็นการป้องกันที่ดี โดยปัจจุบันสามารถ Walk in เข้ารับได้ทั้งเข็มที่ 1 ,2 และเข็มที่ 3 ที่ รพ.ใกล้บ้าน หรือ รพ.สต. ส่วนนักเรียนที่มีอายุ 5 – 11 ปี กำลังรอสูตรวัคซีนที่จะมาใช้ป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด สำหรับในการรักษานั้น มีการปรับแผนการรักษาใหม่ โดยจะให้คนไข้ที่เป็นกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย และกลุ่มสีเหลืองที่มีอาการมากขึ้นและมีโรคประจำตัว ให้ดูแลรักษาที่บ้านหรือสถานที่กักตัวของรัฐ ส่วนกลุ่มสีแดงที่มีอาการไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป หอบมากกว่า 25 ครั้ง และวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94 ลงมา หรือในบางกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ที่อาจมีผลแทรกซ้อนได้อย่างชัดเจน และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่เมื่อได้รับเชื้อแล้วมีอาการที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จะต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ในส่วนของภาพรวมจำนวนเตียงรักษาปัจจุบันมีทั้งสิ้น 444 เตียง ใช้ไปแล้ว 84 เตียง คงเหลือ 360 เตียง โดยได้มีการอนุมัติให้เปิดศูนย์ผู้ป่วยชุมชน (CI) เพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาด อีกจำนวน 820 เตียง ในส่วนของมาตรการอื่น ๆ ก็ได้มีการให้ปิดการเรียนแบบ ON – site ไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2565 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด และยังไม่อนุมัติให้เปิดสนามชนไก่และสนามกัดปลาที่ก่อนหน้านี้มีการขออนุมัติมา.

ข่าว-ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำ จังหวัดนครพนม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม