กลิ่นทุจริตโชย ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปรับแก้TORเอื้อบิ๊กผู้รับเหมา

กลิ่นทุจริตโชย ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปรับแก้TORเอื้อบิ๊กผู้รับเหมา

กลิ่นทุจริตเอื้อประโยชน์เต็มๆ! โป๊ะแตกสุดแรง เอกสารรฟม.ปรับแก้เงื่อนไขทีโออาร์ รถไฟฟ้าสีส้ม โผล่ว่อนทันควัน หลังบริษัทรับเหมายักษ์ดิ้นพล่านร้องค้าน

โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรีวุ่นหนัก  ผู้บริหาร รฟม.ส่อตุกติก  แอบปรับเปลี่ยนเงื่อนไขทีโออาร์    “บีทีเอส” รับไม่ได้กติกาใต้โต๊ะ  เดิมยึดกรอบผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้รัฐ  โดนแต่งเติมประเด็นเทคนิค เข้าทางผู้ประเมินเต็มๆ  เอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจสัมพันธ์ลึกการเมือง

            กลายเป็นปมร้อนที่ต้องวัดใจ  พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี   อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร  ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กำลังถูกใบสั่งให้ทุกวิถีทาง เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจ   กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายยักษ์แห่งหนึ่ง

          โดยความเป็นมาของ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ทางรฟม.ได้มีการเปิดให้มีการซื้อเอกสารประกวดราคาไปก่อนหน้านานแล้ว และมีบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ  ให้ความสนใจมากถึง 10 ราย  ด้วยหลักการที่รับรู้ รับทราบ ตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะยึดเอาผลการประมูลว่าด้วยผลตอบแทนต่อรัฐ  หรือ  ผู้ให้ราคาตอบแทนสูงสุดเป็นตัวชี้วัด  โดยมีไทม์ไลน์สำคัญ คือ   รฟม.กำหนดให้มีการยื่นซองประมูลในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้

          ส่วนขั้นตอนการประมูลโครงการดังกล่าว   จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ   ซึ่งมี นายกิตติกร ตันเปาว์  ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม.   เป็นประธาน   ส่วนคณะกรรมการฯดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน  พ.ศ.2562  เนื่องด้วยเพราะเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท  โดยเอกชนต้องออกแบบและก่อสร้างงานโยธา รวมทั้งลงทุนจัดหาและให้บริการระบบรถไฟฟ้า 

           ขณะที่หลักเกณฑ์การตัดสิน   รฟม.กำหนดในเงื่อนไขทีโออาร์ กำหนดไว้อย่างชัดเจน   ว่า    ในการประเมินและเปรียบเทียบข้อเสนอนั้น      ผู้ยื่นข้อเสนอที่มี  NPV  ของสุทธิผลประโยชน์สุทธิสูงที่สุด   จะได้รับการประเมินให้เป็นผู้ชนะการประมูล   ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติทั่วไป หลังจากผู้ประมูลมีคะแนนผ่านเกณฑ์  ทั้งด้านคุณสมบัติและด้านเทคนิคมาก่อน 

          แต่ปรากฏว่าภายหลังข้อกำหนด  ว่าด้วยเงื่อนไขการประมูลเผยแพร่สู่สาธารณะ  กลับเกิดปรากฎการณ์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในภายหลัง  ด้วยผลสืบเนื่องจากข้อเรียกร้องของบริษัทผู้รับเหมาแห่งหนึ่ง  ผ่านการทำหนังสือร้องเรียนไปยัง  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.   ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ   โดยระบุว่าไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุด   แต่ควรพิจารณาจากผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวมที่จะทำให้โครงการสำเร็จได้

          นี่จึงเป็นที่มาของข้อพิรุธที่กำลังนำไปสู่ความวุ่นวายสำหรับการเดินหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชน   ที่ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักองภาครัฐ เพราะมีการตรวจพบว่าข้อพิรุธ ว่าด้วยการแก้ไขคุณสมบัติของผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นเรื่องจริง

        เนื่องจากพบเอกสารหลุดรอด ปรากฏออกมาว่า  มีการเพิ่มเติมประเด็นการตัดสินผลประมูล   ในข้อเสนอด้านเทคนิค  โดยเฉพาะเงื่อนไขว่าด้วย เทคนิคด้านการก่อสร้างงานโยธา    ซึ่งจะมีการนำไปคิดคำนวณผลการประเมินด้านเทคนิค   ด้วยอัตราส่วนถึงร้อยละ 50     และผลการประเมินด้านเทคนิค   ยังต้องถูกนำไปพิจารณาประกอบกับผลคะแนนทางการเงิน   ต่างจากเงื่อนไขเดิมที่กำหนดไว้ในทีโออาร์

          ข้อสังเกตสำคัญ   ก็คือ  โดยข้อเท็จจริง   นายระภาส คงเอียด   ผู้อำนวยการ สคร.   เพิ่งจะส่งต่อหนังสือร้องเรียนของบริษัทรับเหมากอสร้างแห่งหนึ่งไปยัง รฟม.   เพื่อแจ้งไปยังคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ   โดยระบุว่า     เป็นข้อเสนอของผู้รับเหมาบางรายที่ให้พิจารณา     เกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับเกณฑ์ราคา   จากเดิมที่แยกพิจารณาข้อเสนอแต่ละด้าน  ขณะที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯฉบับใหม่ ไม่ได้กำหนดว่าทำได้หรือไม่ได้    จึงต้องเป็นการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ   ในการพิจารณาว่าจะยินยอมปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ทีโออาร์   ตามข้อเสนอของบริษัทผู้รับเหมาบางรายนั้นทำได้หรือไม่ 

           และหากทำได้จะมีกฎหมายใดมารองรับ รวมทั้งเหตุผลที่ต้องใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว   เพราะผู้ซื้อเอกสารรายอื่นอาจยื่นข้อเสนอ  ให้ยึดเงื่อนไขทีโออาร์เดิม ดังนั้นที่ประชุมจะต้องหาข้อสรุปให้ได้  แต่กลับปรากฏว่ามีเอกสารเงื่อนไขของทางรฟม.  ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนข้อการพิจารณา เงื่อนไขการประมูลใหม่ออกมาล่วงหน้า  พร้อมกำหนดรายละเอียดพร้อมสรรพ   เสมือนหนึ่งมีการตกลงไว้ล่วงหน้า  จะมีการดำเนินการตามข้อร้องเรียนของบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายดังกล่าว

          โดยมีรายงานข่าวว่า  ก่อนหน้านั้น  นายณัฐศักดิ์ ชัยชนะ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย  บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส)   ได้เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือ   ให้กับนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36   โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีนายกิตติกร ตันเปาว์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. และรักษาการรองผู้ว่าการ รฟม. (วิศวกรรมและก่อสร้าง) เป็นประธานคณะกรรมการ

          นายณัฐศักดิ์   กล่าวว่า การเข้ายื่นหนังสือดังกล่าว     เนื่องจากได้รับทราบข่าวว่ามีผู้ยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มบางราย  ได้ทำหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขประมูล  ซึ่งทางบีทีเอส ในฐานะเป็นผู้ซื้อซองประมูลด้วยเช่นกัน จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูล     ภายหลังที่มีการดำเนินการตกลงเงื่อนไขกับฝ่ายเอกชนไปแล้ว    จึงได้มายื่นหนังสือเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านแนวการทำงานของ รฟม.

           ทั้งนี้หากการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36   มีมติการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประมูลจริง   ทางบริษัทคงต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการใดต่อไป เพราะมีผู้ซื้อซองหลายรายในโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ซึ่งย่อมได้รับผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกัน 

          สำหรับรายละเอียดของหนังสือของบีทีเอส    ระบุว่า      ด้วยได้ทราบข่าวว่ามีผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี  รายหนึ่งได้ทำหนังสือเพื่อให้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนการประเมินและเปรียบเทียบ    ข้อเสนอเกี่ยวกับผู้ที่จะได้รับการประเมินให้เป็นผู้ชนะการคัดเลือก  โดยเสนอว่าไม่ควรพิจารณาให้ผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเป็นผู้ชนะการคัดเลือก แต่ควรพิจารณาปัจจัยและผลประโยชน์อื่นๆ เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคร่วมด้วย    จึงใคร่ขอเรียนถามรฟม.ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เนื่องจากหากเป็นความจริง   บริษัทฯเห็นว่าถ้ามีการปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินข้อเสนอดังกล่าว จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ และไม่เคยมีการดำเนินการในลักษณะนี้กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและภาคเอกชนมาก่อน

          นอกจากนี้ บริษัทเห็นว่าผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอในโครงการนี้ได้ ตะต้องผ่านเกณฑ์ด้านต่างๆของรฟม. ซึ่งจะต้องเป็นบริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการดำเนินงานสูง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทที่ผ่านเกณฑ์จะไม่ทำตามข้อเสนอที่ได้ยื่นต่อรฟม. อีกทั้งบริษัทที่ยื่นข้อเสนอยังต้องมีภาระรับผิดชอบค้ำประกันต่อ รฟม. ด้วย

          ที่สำคัญการพิจารณาผู้ชนะการคัดเลือกโดยใช้ข้อเสนอทางเทคนิค  ทั้งๆที่ได้มีการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะการคัดเลือกมาแล้ว จะเป็นช่องทางที่ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม หรืออาจเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ การพิจารณาผู้เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดให้กับรัฐให้เป็นผู้ชนะการประมูล จึงจะเป็นการก่อประโยชน์สูงสุดแก่รัฐโดยแท้ และมีความโปร่งใสเป็นธรรมมากที่สุด บริษัทฯจึงเห็นว่าเป็นการไม่สมควรถ้าหากจะมีการปรับแก้วิธีการการประเมินข้อเสนอดังกล่าว

          นอกจากนี้บริษัทฯยังเห็นว่าแม้การร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้ จะมิใช่การจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐ แต่การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการในข้อเท็จจริงข้างต้น เทียบเคียงได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ ซึ่งแม้ไม่ได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายร่วมลงทุนก็ตาม แต่คณะกรรมการคัดเลือก  ควรต้องนำกฎกระทรวงการคลังกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. 2560 มาใช้บังคับโดยอนุโลม  เนื่องด้วยถือเป็นการอุทธรณ์ที่ไม่สามารถกระทำได้ตามเงื่อนไขกฎหมาย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม