“หมอพรทิพย์”แนะ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ยกคดี”บอส”มีช่องว่างทางกฏหมาย

แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ” แนะ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ยกคดี”บอส”มีช่องว่างทางกฏหมาย

แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยถึงคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มกระทิงแดง ในคดีขับรถชนตำรวจตายว่า คดีที่เกิดขึ้นนี้เป็นภาพสะท้อนของกระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ 3-4 ขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ การชันสูตรศพผู้เสียชีวิต การทำสำนวนในชั้นตำรวจ

การวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์ถึงเรื่องรถของนายวรยุทธว่าขับมาด้วยความเร็วเท่าไหร่ แต่ระบบของไทยปัญหาเกิดขึ้นเพราะให้ตำรวจใช้ดุลพินิจกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่รู้ว่าหลักฐานในที่เกิดเหตุเก็บมาครบหรือไม่และเมื่อเก็บหลักฐานแล้วก็ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนว่าส่งสำนวนครบถ้วนหรือไม่

รวมถึงผลที่ส่งตรวจได้นำมาใส่ในสำนวนหรือไม่ คดีนี้เห็นได้ชัดว่า มีข้อมูลที่ตรวจพบสารเสพติดในตัวของนายวรยุทธ แต่ไม่นำมาใส่ในสำนวน ซึ่งจะเห็นปัญหาของการเก็บรวบรวมหลักฐานและการนำไปใส่ในสำนวนคดี

อีกทั้งคดีนี้นายวรยุทธได้ประกันตัว ก็เหมือนเป็นการดึงเวลา และในขณะเดียวกันก็มีเวลาของทั้งสองฝั่ง คือฝั่งทางตำรวจและอัยการว่ามีการสั่งสอบเพิ่มหรือไม่ เพราะตัวผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในประเทศไทยและระหว่างที่มีเวลา ก็เกิดอีกหนึ่งเรื่องขึ้นมา คือการร้องขอความเป็นธรรม

โดยเป็นการร้องของทางฝั่งผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการร้องที่แปลก ร้องอัยการและสนช. แต่ทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะผู้ที่รับเรื่องร้องเรียนเข้ามา เมื่อมาดูที่รายชื่อประธานกรรมการเป็นตำรวจทั้งหมด จึงรู้ว่าคดีนี้เป็นอย่างไร อีกทั้งที่ปรึกษายังเป็นทนายของนายวรยุทธอีก

ทั้งหมดเป็นประเด็นที่น่าสงสัยของการทำสำนวนและจุดที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการที่จะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ต้องเป็นคณะอนุกรรมการหรือไม่ หรือเป็นแค่การเซ็นหนังสือตามลำดับขั้นตอนของผู้บังคับบัญชา ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่ผ่านการพิจารณาองค์คณะ ที่ไม่เหมือนกับการยกฟ้องในชั้นศาล เพราะศาลเป็นองค์คณะ

แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ ยังระบุอีกว่า ภาพใหญ่ของคดีนายวรยุทธ เป็นเรื่องเชิงระบบ และเป็นเรื่องที่ปล่อยผ่านไม่ได้ คือคนที่มีอำนาจกับคนรวยสามารถที่จะหลบหลีกบทลงโทษเรื่องนี้ได้ เพราะกฎหมาย จึงเสนอแผนปฏิรูปในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์และเรื่องการสอบสวนที่ควรต้องดำเนินการใหม่

โดยก่อนหน้านี้แผนปฏิรูปประเทศถูกกำหนดกรอบไว้ว่าต้องสร้างระบบรวบรวมพยานหลักฐานใหม่ เจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ มีอำนาจในการเก็บหลักฐาน ส่งตรวจ ทำรายงาน ไม่ใช่ปล่อยให้ใช้ดุลพินิจ เลือกเก็บ เลือกตรวจ เลือกทำสำนวนโดยพนักงานสอบสวน พยานหลักฐานจะเข้าสู่สำนวนทั้งหมด อัยการและศาลจะได้เห็นในสำนวน

กับอีกหนึ่งเรื่องที่ควรแก้จุดอ่อน ที่ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนในส่วนของการคานดุลอำนาจ ก่อนหน้านี้ การที่พนักงานสอบสวนจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง จะมีผู้ว่าราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกเลิกไปตอนม.44 ในช่วงที่มีการปฏิวัติ ทำให้ผู้ว่าราชการไม่มีอำนาจ ทำให้เหลือตำรวจกับอัยการเท่านั้น จึงควรมีคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพื่อเป็นการถ่วงดุล

แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ ยังทิ้งท้ายอีกว่า หลังจากนี้ต้องรอดูคณะกรรมการของนายวิชา มหาคุณ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งทีมสอบข้อเท็จจริงคดีดังกล่าวว่าผลออกมาเป็นอย่างไร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม