ศาลาที่พักผู้โดยสารโฉมใหม่ “เช็ค-ชาร์จ-แชร์” ฟรี

กทม.นำร่องพัฒนาศาลาที่พักผู้โดยสารโฉมใหม่ “เช็ค-ชาร์จ-แชร์” ฟรี ตั้งเป้าเฟสแรก 350 จุดทั่วกรุงในปี 64

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่า กทม.ร่วมกับ บริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) พัฒนาและปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะรูปแบบใหม่ (Smart Bus Shelter)โดยนำร่องแห่งแรก บริเวณแยกพระราม 9 ฝั่งเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์พระราม 9 ซึ่งมีความทันสมัยอย่างมาก โดยมีกล้องวงจรปิด (CCTV) ช่วยดูแลด้านความปลอดภัย มีเครือข่ายไวไฟให้ใช้ฟรี มีระบบชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ รวมถึงระบบแจ้งสายรถประจำทางที่จะเข้าป้ายและระยะเวลาการมาถึง สอดคล้องความต้องการของคนกรุงฯ อีกทั้งยังจะช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยวางแผนการเดินทางให้ง่ายขึ้น

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สำหรับศาลาที่พักผู้โดยสารโฉมใหม่นี้ กทม.ได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการในระยะที่ 1 จำนวน 350 จุด ภายในปี 2564 จะเน้นจุดที่ประชาชนใช้บริการจำนวนมาก รวมถึงจุดเชื่อมต่อการเดินทางล้อ ราง เรือ และยังมีแผนจะขยายการพัฒนาศาลาที่พักผู้โดยสารในระยะที่ 2 ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป ซึ่งหากกทม.พัฒนาศาลาที่พักผู้โดยสารอัจฉริยะเต็มรูปแบบแล้ว จะช่วยให้ประะชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางมีความสะดวกและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

“นอกจากนี้ กทม.ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Via Bus ตรวจสอบการเดินรถโดยสาร รวมถึงแสดงตำแหน่งและระยะเวลาที่จะมาถึงของรถโดยสารขสมก.ที่ติด GPS เพื่อให้รู้ว่าสายรถประจำทางที่เราต้องการขณะนี้อยู่ตรงไหนและใกล้เข้าป้ายหรือยัง นอกจากนี้ยังแสดงป้ายรถประจำทางที่ใกล้ที่สุด และข่าวสารเกี่ยวกับการจราจรและการเดินทางอื่นๆ ด้วย”ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีป้ายรถประจำทางอยู่แล้วกว่า 5,000 หลัง และสามารถใช้การประมาณ 3,000 หลัง กทม.จึงพยายามที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ซึ่งให้บริการรถโดยสารประจำทางรวมจำนวนกว่า 3,000 คัน และรถร่วมบริการอีกประมาณ 3,000 คัน พัฒนาป้ายรถประจำทางอัจฉริยะนำร่องจุดแรกเพื่อศึกษาถึงข้อบกพร่องต่างๆ แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีและทันสมัยขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ประชาช หรือผู้ที่จะต้องอาศัยรถประจำทางในการเดินทาง

“นอกจากนี้จะดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนของกันสาดและส่วนของด้านหลังป้ายเพื่อกันฝนให้ผู้โดยสารขณะรอรถ โดยภายใน 1 ปี จะติดตั้งป้ายรถแบบ Full Function ให้ได้ 100 หลัง และแบบ Light Function อีก 250 หลัง ภายในปี 63 คาดแล้วเสร็จ 200 หลัง และภายในเดือน เม.ย.64 จะสามารถติดตั้งครบทั้ง 350 หลัง โดยจะดำเนินการติดตั้งป้ายรถประจำทางแบบอัจฉริยะในจุดที่มีประชาชนใช้บริการรถประจำทางเป็นจำนวนมาก และขยายโครงข่ายให้ทั่วกรุงเทพฯ ต่อไป”ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม