กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ถกหนักการควบรวมดีเทคกับทรู หวั่นธุรกิจมือถือเกิดการผูกขาด ปชช. ได้รับผลกระทบสูง

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่อาคารรัฐสภา ห้องประชุมกรรมาธิการ N 408 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ นายมานะ โลหะวณิชย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย และประธานกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายณพล (สัมภาษณ์) บริบูรณ์  น.ส.นภชนก เหมือนนามอญ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร นายจิรศักดิ์ สินธุ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือดีแทค ร่วมกันพิจารณากรณีการพิจารณาผลกระทบต่อผู้บริโภค จากการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือดีแทค เนื่องจากเกรงว่าหากมีการควบรวมกันขึ้น จะเกิดผลกระทบกับประชาชนในฐานะผู้บริโภค และยังเกรงว่าจะเกิดการผูกขาดในการให้บริการ

ในการประชุมครั้งนี้ทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าวว่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์จากการที่คณะกรรมการได้มีการประชุมกัน โดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมประมาณ 50 คน ได้มีผลสรุปว่า หากมีการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องค่าบริการ รวมทั้งประสิทธิภาพในการให้บริการกับประชาชน

นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่า การควบรวมทั้ง 2 บริษัทในครั้งนี้เป็นการลดจำนวนของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งขณะนี้มีผู้ดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคมเพียง 3 รายเท่านั้น หากควบรวมจะเหลือเพียง 2 รายเท่านั้น ส่งผลให้ลดทางเลือกของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ และยังเป็นการผูกขาดถาวรอีกด้วย เนื่องจากผู้ลงทุนรายใหม่ จะไม่กล้าลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม เพราะคลื่นความถี่ได้มีการกระจายไปสู่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายแล้วคือ ทรู ดีแทค และเอไอเอส เกือบหมดแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวได้ รวมทั้งช่องทางจัดจำหน่ายซิมการ์ดมือถือ ได้มีการจัดจำหน่ายไปแล้วประมาณ 70 ล้านซิมการ์ด จากประชากรของประเทศไทยมีประมาณ 69 ล้านคน จึงทำให้การควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ อาจจะเกิดการผูกขาดขึ้นได้ เพราะผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้

ทางด้านนายมานะกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้ผลสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทคือ ทรู และดีแทคไม่ได้เข้ามาชี้แจง อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้มีความคืบหน้าไปประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการควบรวมทั้ง 2 บริษัท คาดว่าจะเกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนโดยตรง ทางคณะกรรมาธิการฯ จึงต้องรับฟังข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อประกอบการพิจารณาการลงมติจะให้มีการควบรวมทรูกับดีแทคหรือไม่

ศูนย์ข่าว thaitrendnews

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม