จุฬาฯวิจัย”วัคซีนโควิด”คืบ ร่วมมือกับม.เพนซิลวาเนีย จองโรงงานผลิตในสหรัฐแล้ว

จุฬาฯวิจัย”วัคซีนโควิด”คืบ ร่วมมือกับม.เพนซิลวาเนีย จองโรงงานผลิตในสหรัฐแล้ว

วันที่ 19 พ.ค.2563  ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์ เปิดเผยเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของศูนย์วิจัยพัฒนาวัคซีนของจุฬาฯ ว่า ความหวังของเราคือการมีวัคซีนในการลดการระบาดโควิด-19 โดยในปัจจุบันทั่วโลกมีประเทศที่กำลังพัฒนาวัคซีนต้นแบบจำนวน 115 ประเทศ  ซึ่งคาดว่าหากรวมกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆอีกก็น่าจะมีประมาณ 120 ประเทศ โดยมี 10 วัคซีนต้นแบบที่เข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบกับอาสาสมัคร แบ่งเป็น 8 วัคซีนต้นแบบในเฟสที่ 1 คือทดสอบในอาสาสมัครไม่เกิน 100 คน และ 2 วัคซีนต้นแบบในเฟสที่ 2 คือทดสอบในอาสาสมัครมากกว่า 100-1,000 ใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เยอรมัน และแคนาดา

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปในการพัฒนาวัคซีนในภาวะปกติ  ต้องมีกระบวนการทดสอบจากสัตว์ทดลอง ก่อนไปทดลองในคน และต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี  กว่าที่จะสำเร็จ ผลิตเป็นวัคซีนให้คนทั่วไปได้ใช้  แต่ในภาวะที่มีการโรคระบาดทั่วโลก จะใช้เวลาในการพัฒนานานไม่ได้  บวกกับเทคโนโลยีของโลกที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ดังนั้น ทันทีที่รู้สายพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19แล้ว  วัคซีนตัวแรกอาจจะใช้เวลาพัฒนาไม่ถึง 4 เดือน ก็เข้าสู่ F-L-H หรือ เฟสที่ 1 และเข้าสู่เฟสที่ 2 และ 3 โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี

“ดังนั้นถ้าไทยจะออกแบบพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ก็จะต้องเข้าใจภูมิคุ้มกันโควิด-19 ที่แบ่งออกเป็น Neutralizing Antibodies(NAb) และ Cytotoxic T cells ซึ่งก็มีการตั้งคำถามว่า 1.NAb อย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ 2.ต้องมี T cells หรือไม่ 3.ในบุคคลที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว มี NAb สูงแค่ไหน แล้วจะสามารถป้องกันการติดเชื้อรอบสองได้หรือไม่ ในกรณีป้องกันได้ จะสามารถป้องกันได้นานกี่เดือน กี่ปี และที่สำคัญคือ 4.Enhancing Ab (ADE) ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเชื้อไวรัสเดงกี ที่เป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก หากฉีดแอนติบอดีเข้าไปจะนำพาเชื้อนี้เข้าสู่เซลล์ได้ง่ายหรือไม่ในบางคน” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า  เป็นไปได้ว่าการตอบสนองของแอนติบอดีในโควิด-19 ก็อาจจะมีทั้ง NAb และ Non-NAb แล้วค่าTiter(ปริมาณของ Serum Dilution ในลำดับสูงสุดที่ทำปฏิกิริยากับไวรัส) เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ จากข้อมูลในประเทศจีน ค่าTiter จากอาสาสมัคร 175 คน จะเห็นว่าประชากรจีนที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 50% มีค่า Titer ไม่ถึง 1,000 และอีก 50% เกิน 1,000 ซึ่งอาจจะตอบโจทย์ได้ว่าวัคซีนตัวนี้สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ และเมื่อมีวัคซีนโควิด-19 จะมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส เหมือนกับ HIV หรือ ไข้หวัดใหญ่หรือไม่นั้น จากข้อมูลที่เริ่มมีการระบาดจนถึงในปัจจุบัน ตามลำดับพันธุกรรมมากกว่า 500 ลำดับ จากฐานข้อมูลสากล GISAID ยังไม่พบว่ามีการกลายพันธุ์ของพันธุกรรมเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี

สำหรับบความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของศูนย์วิจัยวัคซีนจุฬาฯ (Chula VRC) ที่ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ศ.นพ.เกียรติกล่าวว่า   ขณะนี้ได้วัคซีนต้นแบบแล้ว 6 ตัว  พัฒนาด้วยเทคโนโลยี mRNA  อยู่ในขั้นตอนของการทดสอบในสัตว์ เพื่อหาวัคซีนที่ดีที่สุด  ผลทดลองเบื้องต้น ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ซึ่งได้ทดลองกับหนู ผลออกมาดี ส่วนการทดลองกับหนูของทางจุฬาฯผลจะออกมาในช่วงสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะมีการทดลองในลิง และเสร็จสิ้นการทดลองในลิงช่วงเดือนมิถุนายน 2563

รองคณบดี กล่าวอีกว่า และเมื่อไม่นานนี้ ทางศูนย์วิจัย ได้ประชุมเพื่อจองโรงงาน Bio tech ในสหรัฐอเมริกา ผลิตวัคซีน 10,000 โดส คาดว่าจะส่งวัคซีนต้นแบบให้โรงงานผลิตได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563   และจะสามารถผลิตวัคซีนให้เราได้เร็วที่สุดในเดือนสิงหาคม และจะสามารถนำส่งวัคซีนมาทดสอบในอาสาสมัคร จำนวนประมาณ 100 คน ได้ในเดือนตุลาคม 2563  โดยอาสาสมัครเหล่านี้ต้องอายุตั้งแต่  18-80 ปี ร่างกายแข็งแรง และต้องไม่เคยได้รับเชื้อโควิด-19 มาก่อน   ทั้งนี้  คาดว่าการพัฒนาในระยะเฟส1-3 จะเสร็จสิ้นเรียบร้อยในกลางปี 2564 หลังจากนั้นก็จะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทในไทย เพื่อผลิตเป็นวัคซีนอย่างน้อย 60 ล้านโดสต่อไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วยในการผลิตวัคซีนให้ครอบคลุมคนไทยจำนวนเท่าไหร่

“การจองโรงงานผลิตวัคซีน ที่สหรัฐ  เราได้งบประมาณจากทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่สนับสนุนการวิจัย ส่วนโรงงานที่จองไว้ แบ่งเป็น 2 โรงงาน คือโรงงานที่ผลิตวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ที่สหรัฐอเมริกา   และอีกโรงงานที่ผลิตส่วนผสมวัคซีน เพื่อใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี  เป็นของบริษัทประเทศเยอรมันนี แต่ตั้งอยู่ในประเทศแคนาดา และหากผลการผลิตจากต่างประเทศแล้วเสร็จ ก็เตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยี mRNA ให้กับโรงงานในไทย ที่ร่วมมือ คือ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด แต่ทั้งนี้ไทยจะต้องเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิตแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2564 “

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีหลายประเทศมีความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนมากกว่าไทยมาก  เหตุใดประเทศไทยยังต้องเดินหน้าโครงการต่อ ศ.นพ.เกียรติกล่าวว่า  ถ้าดูจากจำนวนประชากรทั่วโลก  7,780 ล้านคน ก็คาดว่าจะมีความต้องการวัคซีนไม่ต่ำกว่านี้  อย่างในประเทศจีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน และในอเมริกาอีกว่า 330 ล้านคน  ฉะนั้นหากประเทศเหล่านี้ผลิตวัคซีนได้ ก็ต้องดูแลประชากรในประเทศของเขาก่อน  ซึ่งทางรัฐบาลไทย ก็ได้มีการวางแผนเรื่องนี้ไว้แล้ว  คือ การจับมือกับประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา พัฒนาวัคซีนให้ก้าวไกล ในการร่วมทำวิจัยต่างๆ และเพื่อปูทางนำเข้าวัคซีนในอนาคต  อย่างไรก็ตาม การที่ไทยพัฒนาวัคซีนเอง คู่ขนานไปด้วย ก็เพื่อดูแลประชากรอย่างเพียงพอ ส่วนวัคซีนโควิด-19 จะต้องฉีดซ้ำเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไหม อาจจะต้องรอผลของพิสูจน์ต่อไป

“ในปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อยู่ในระยะเวลาของการรอผลว่าต้นแบบวัคซีนประเทศไหนจะได้ผลดีกว่ากัน และคาดว่าประเทศจีนน่าจะผลิตได้เสร็จก่อนเป็นประเทศแรก เพราะได้เริ่มทดลองพัฒนาก่อนประเทศอื่นๆ ซึ่งการทดลองที่ไทยทำ ยังตามหลังประเทศจีน หรือสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นข้อดี เพราะหากเทคโนโลยีที่ใช้ทดลองซึ่งเป็นตัวเดียวกัน อย่าง mRNA ได้ผล ก็ถือว่ามาถูกทาง   แต่หากไม่ได้ผลเราก็จะสามารถหยุดพัฒนาได้เร็ว และหาทางวิธีอื่นต่อไป “ ศ.นพ.เกียรติกล่าว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม